ทีมนักวิจัยชาวโครเอเชีย นำโดยศาสตราจารย์นิโกลา เคซิช จากคณะเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยซาเกรบ ประสบความสำเร็จในการฝึกฝนให้ ผึ้ง กลายเป็นนักค้นหากับระเบิดเพื่อทำลายทิ้งที่มีประสิทธิภาพ โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2007 ที่ผ่านมา และได้รับทุนสนับสนุนให้ดำเนินการต่อเนื่องจากสหภาพยุโรป (อียู) อีกด้วย
หลายพื้นที่ในบริเวณที่เคยเป็นประเทศยูโกสลาเวียในอดีต ก่อนแยกตัวออกมาเป็นโครเอเชีย, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และอีกหลายๆ ประเทศในเวลานี้ ยังคงเต็มไปด้วยกับระเบิดที่แต่ละฝ่ายฝังไว้เพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้ามในช่วงที่พื้่นที่นี้เต็มไปด้วยสงครามเมื่อต้นทศวรรษ 1990 โดยประเมินกันว่า ยังคงมีกับระเบิดหลงเหลืออยู่ในบริเวณดังกล่าวนั้น ไม่น้อยกว่า 250,000 ลูก
นับตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลง มีผู้เสียชีวิตจากกับระเบิดเหล่านี้ไปแล้วมากกว่า 300 ราย เฉพาะในโครเอเชียเพียงประเทศเดียว ในจำนวนนี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่เก็บกู้กับระเบิดเหล่านี้มากถึง 66 นาย แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า การค้นหาและเก็บกู้กับระเบิดเหล่านี้เป็นงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอันตรายและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด
ศาสตราจารย์เคซิชได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทางสหภาพยุโรปหลายล้านปอนด์ เพื่อดำเนินโครงการ ชื่อโครงการ ทีรามิสุ โดยอาศัยคุณลักษณะพิเศษของผึ้งที่สามารถได้กลิ่นสิ่งที่ตัวเองเสาะหาได้ในระยะไกลถึง 4.5 กิโลเมตร นำมาใช้เป็นประโยชน์ ทีมงานของศาสตราจารย์เคซิช ทำงานอยู่ภายในเต็นท์กรุตาข่าย เต็มไปด้วยผึ้งเป็นจำนวนมาก เพื่อฝึกให้มันคุ้นกับน้ำตาลที่ผสมกลิ่นของระเบิดทีเอ็นทีเอาไว้ นอกจากเต็นท์ผึ้งดังกล่าวแล้ว ทีมวิจัยยังจัดทำ จุดให้อาหาร ผึ้งอยู่เป็นระยะๆ เกือบทั้งหมดมีร่องรอยของทีเอ็นทีอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ผึ้งเหล่านี้จะถูกฝึกให้เชื่อมโยงกลิ่นทีเอ็นทีเข้ากับอาหารที่มันจะได้รับเป็นประจำ หลังผ่านการฝึกแล้ว ผึ้งเกือบทั้งหมดจะไปรวมตัวกันอยู่แต่เฉพาะจุดให้อาหารที่มีทีเอ็นทีผสมอยู่ด้วยเท่านั้น
ในการใช้ผึ้งที่ผ่านการฝึกฝนแล้วให้หากับระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดินนั้น ทีมงานใช้กล้องจับภาพด้วยความร้อนเพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวของฝูงผึ้งจากสถานที่ห่างไกล จุดใดที่ผึ้งไปรวมตัวกันอยู่เหนือพื้นดิน คือจุดที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีกับระเบิดฝังอยู่ด้านใต้ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะเป็นผู้จัดการเก็บกู้กับระเบิดดังกล่าว
การฝึกผึ้งเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหากับระเบิดเช่นนี้ มีข้อดีอยู่หลายอย่าง นอกเหนือจากการที่มนุษย์ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว ตัวผึ้งเองก็ไม่ได้เสี่ยงอันตรายไปด้วย เนื่องจากผึ้งมีขนาดเล็กมากและไม่เสี่ยงต่อการไปเหยียบหรือทำให้กับระเบิด ระเบิดขึ้นโดยไม่เจตนา เหมือนกับการฝึกฝนโดยใช้สัตว์อื่นๆ อย่างเช่น สุนัข ในการค้นหากับระเบิดเหล่านี้
นอกเหนือจากโครงการของศาสตราจารย์เคซิชแล้ว ก่อนหน้านี้ โครงการวิจัยก้าวหน้าของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (ดาร์ปา) ก็เคยทดลองฝึกผึ้งให้ค้นหากับระเบิดเช่นเดียวกัน ผึ้งในโครงการของดาร์ปา จะถูกติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุขนาดเล็กเอาไว้ ทำให้การติดตามร่องรอยทำได้แม่นยำกว่า แต่ก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าเช่นเดียวกัน
วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่ง หลังจากที่ผึ้งเหล่านี้ถูกฝึกฝนจนเคยชินแล้วก็คือ ทีมวิจัยจะปล่อยให้มันเป็นอิสระในพื้นที่ซึ่งเคยผ่านการเก็บกู้กับระเบิดจนเข้าใจว่าไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว เพื่อตรวจสอบซ้ำว่า ยังคงมีกับระเบิดที่ผู้เก็บกู้ที่เป็นคนหลงหูหลงตาเหลืออยู่หรือไม่นั่นเอง
ภาพและข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น