วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พบปลาไฟฟ้าสกุลใหม่คล้ายปลาไหล

                  นักวิทยาศาสตร์นานาชาติเจอปลาไฟฟ้าสกุลใหม่หน้าตาคล้ายปลาไหล 
หลังค้นพบในแม่น้ำอันห่างไกลทางตอนเหนือของกายยานา ซึ่งตัดขาดจากอเมริกาใต้
มานานกว่า 30 ล้านปี


                               อะกาไวโอ พีแนค ปลาไฟฟ้าสกุลใหม่ (ไซน์เดลี/นาธาน เลิฟจอย)


ศ.นาธาน เลิฟจอย (Nathan Lovejoy) จากมหาวิทยาลัยโตรอนโตสการ์บอรอฟ 
(University  of Toronto Scarborough) ในแคนาดา และทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ 
ได้จำแนกปลาไฟฟ้าจากแม่น้ำอันห่างไกลในอเมริกาใต้ ซึ่งยังไม่เคยมีใครรู้จักสกุลมาก่อน
       
       ปลาดังกล่าวคือ อะกาไวโอ พีแนค (Akawaio penak) เป็นปลาไฟฟ้าที่พบใน
แหล่งน้ำตื้นขุ่นๆ ทางตอนบนของแม่น้ำมาซารูนี (Mazaruni River) ที่อยู่ตอนเหนือ
ของกายยานา โดยทีมของเลิฟจอยที่มหาวิทยาลัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อของ
ปลาดังกล่าว ระหว่างการเดินทางออกสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งนำคณะโดย เฮอร์นัน 
โลเปซ-เฟอร์นันเดซ (Hernán López-Fernández) 
จากพิพิธภัณฑ์หลวงออนทาริโอ (Royal Ontario Museum)
       
       ไซน์เดลีรายงานว่า จากการลำดับดีเอ็นเอและสร้างสาแหรกวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ 
ทีมของเลิฟจอยก็ได้พบว่า ปลาชนิดนี้เป็นสกุลใหม่อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการจำแนกทาง
อนุกรมวิธานในระดับที่สูงกว่าสปีชีส์ (species) หรือชนิดพันธุ์ โดยทางตอนบนของแม่น้ำ
มาซารูนีนั้นเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชุกชุม ซึ่งยังไม่มีการสำรวจอีกมาก 
เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล โดยบริเวณดังกล่าวมีแม่น้ำหลายสายอย่างนับไม่ถ้วน
อยู่ทางตอนบนของที่ราบซึ่งตัดขาดจากส่วนอื่นๆ ของอเมริกาใต้มานานกว่า 30 ล้านปี
       
       “ความจริงที่ว่าบริเวณนี้ห่างไกลและตัดขาดจากโลกภายนอกมานานเช่นนี้
 นั่นหมายความว่าคุณน่าจะได้เจอสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่” เลิฟจอยกล่าว
       
       อะกาไวโอ พีแนค เหมือนกับปลาตองไฟฟ้า (electric knifefish) อื่น ที่มีอวัยวะยาว
ไปตามฐานของร่างกายที่ผลิตสนามไฟฟ้าได้ แต่สนามไฟฟ้าของปลาสกุลใหม่นี้อ่อน
เกินกว่าจะทำให้เหยื่อสลบ ซึ่งมันก็ใช้เพื่อนำทางและตรวจจับวัตถุ รวมทั้งใช้สื่อสารกับ
ปลาไฟฟ้าอื่นๆ แทน ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวเหมาะแก่แหล่งอาศัยที่เป็นน้ำขุ่น
       



       ชื่อของปลาชนิดนี้ตั้งชื่อตาม อะกาไวโอ (Akawaio) ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียแดง
ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของมาซารูนี โดยในแถบภูมิภาคดังกล่าวกำลังได้รับผลกระทบ
จากถิ่นอาศัยน้ำจืดที่ลดลง เนื่องจากการทำเหมืองทองคำในบริเวณนั้น
       
       “มาซารูนีมีสปีชีส์จำเพาะอยู่มาก ซึ่งพบไม่พบในที่อื่นของโลก มันเป็นพื้นที่สำคัญ
อย่างยิ่งในอเมริกาใต้ในแง่ของความหลากลหายทางชีวภาพ” เลิฟจอยกล่าว โดยผลของ
การค้นพบครั้งนีได้ตีพิมพ์ลงวารสารซูโลจิกาสคริปตา (Zoologica Scripta)

ภาพและข้อมูลจากhttp://www.manager.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น